27 กรกฎาคม 2566
ว่าที่ร้อยตรีสุพจน์ บุญยืน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาระนอง เป็นประธานพิธีเปิดงานวันภาษาไทย เนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติ 29 กรกฎาคม ณ โรงเรียนอนุบาลระนอง โดยมีนางปรียาภรณ์ ผยองศักดิ์ รองผู้อำนวยการโรงเรียน เป็นผู้กล่าวรายงาน วัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เห็นความสำคัญของภาษาไทย ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ อันเป็นเอกลักษณ์และวัฒนธรรมทางภาษาที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ โดยกิจกรรมที่จัดขึ้นประกอบด้วยการแสดงของนักเรียน การแสดงชุด ระบำดอกบัว การแสดงโชว์ การประกวดท่องบทอาขยานผลการแข่งขันชนะเลิศ ของนักเรียนช่วงชั้นที่ 1 การแสดงการขับเสภา เด็กหญิงกัญญณัฐ กาญจนพิรุณ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ประพันธ์โดย ครูสุนิษา เทิงสูงเนิน การแสดงการแต่งกายเลยนบบตัวละคร จากวรรณคดีไทย การประกวดแต่งกายเลียนแบบตัวละครในวรรณคดีของครู
ประวัติความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ
วันภาษาไทยแห่งชาติ มีขึ้นเพื่อระลึกถึงความสำคัญของภาษาไทย ในราวปี พ.ศ.1826 พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงประดิษฐ์ “ลายสือไทย” ขึ้นเป็นครั้งแรก ดัดแปลงมาจากอักษรมอญและเขมร มีพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ เพื่อใช้แทนความหมายและเสียงต่างๆ ในภาษาไทย ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น “อักษรไทย” ที่เราใช้กันในปัจจุบันนั่นเอง
สำหรับวันภาษาไทยแห่งชาติ ประกาศใช้ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2542 โดยมีความเป็นมาจากเหตุการณ์เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลที่ 9) เสด็จพระราชดำเนินไปอภิปรายหัวข้อ “ปัญหาการใช้คำไทย” ในการประชุมวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ.2505 พระองค์ท่านทรงแสดงความห่วงใยในภาษาไทย โดยทรงมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“เรามีโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ ปัญหาเฉพาะในด้านรักษาภาษานี้ก็มีหลายประการ อย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในทางออกเสียงคือ ให้ออกเสียงให้ถูกต้องชัดเจน อีกอย่างหนึ่งต้องรักษาให้บริสุทธิ์ในวิธีใช้ หมายความว่า วิธีใช้คำมาประกอบประโยค นับเป็นปัญหาที่สำคัญ ปัญหาที่สาม คือ ความร่ำรวยในคำของภาษาไทย ซึ่งพวกเรานึกว่าไม่ร่ำรวยพอ จึงต้องมีการบัญญัติศัพท์ใหม่มาใช้ สำหรับคำใหม่ที่ตั้งขึ้นมีความจำเป็นในทางวิชาการไม่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ก็ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าๆ ที่เรามียู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก”
ต่อมาในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2542 เป็นวันเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9 เนื่องในพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ทางคณะรัฐมนตรีได้มีมติลงความเห็นให้ วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” และใช้ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ที่มา https://www.thairath.co.th/lifestyle/calendar/2148276
ภาพ : นางสาวอัจฉราวดี อร่ามวิทยานุกูล ศึกษานิเทศก์ สพป.ระนอง
ข่าว : นางสาวถลัชนันน์ อินริสพงษ์ ประชาสัมพันธ์ สพป.ระนอง